เมื่อวันที่ 20- 22 มีนาคม 2564 คณาจารย์ และนักศึกษาของหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาศิลปะการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนัชพร กิตติก้อง อาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปะการแสดง ผู้อำนวยการและผู้ประสานงาน ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงานแสดงแสงสีเสียงปราสาทสด๊กก๊อกธม ณ อุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม ตำบลโคกสูง อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการท่องเที่ยวแหล่งอารยธรรมขอมโบราณตามรอยปราสาทศิลา ปราสาทสด๊กก๊อกธม และมหกรรมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมตามรอยทวารวดีและขอมโบราณ โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสระแก้ว โดยมี นายเกียรติศักดิ์ จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เป็นประธานในพิธีเปิด
……….งานแสดง แสง สี เสียงและสื่อผสม ชุด “สด๊กก๊อกธม มหาเทวราชา ภัทรปัตนะนคร” เป็นการเล่าเรื่องราวกำเนิดปราสาทสด๊กก๊อกธม นำเสนอผ่านเรื่องราวหลักของต้นตระกูลพราหมณ์ของวัฒธรรมขอม ผู้ทำหน้าที่เชื่อมต่อหลายสิ่งหลายอย่างโดยเฉพาะพิธีกรรมแบบลัทธิเทวราชา และมีบทบาทสำคัญต่อพื้นที่แถบถิ่นเขมร-ลาว-สยาม
……….การแสดงได้แบ่งออกเป็น 2 ชุด โดยการแสดงชุดแรก เรื่อง “สด๊กก๊อกธม มหาเทวราชา ภัทรปัตนะนคร” กำกับการแสดงโดยอาจารย์ พชญ อัคพราหมณ์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะศิลปกรรมศาสตร์ และนำแสดงโดยนักศึกษาแขนงวิชาการละคร โดยมีดารานักแสดงจากช่อง 7 คุณบูม กิตตน์ก้อง ขำกฤษ ร่วมแสดงด้วย และการแสดงชุดที่ 2 เรื่อง “สระแก้ว สระขวัญ บรรพนิมิต” กำกับและเขียนบทโดยอาจารย์ พชญ อัคพราหมณ์ และนำแสดงโดยนักศึกษาแขนงวิชาการละครเช่นกัน โดยมีดารานักแสดงจากช่อง 3 คุณแจ็คกี้ ชาเคอลีน มึ้นช์ ร่วมแสดงด้วย
.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนัชพร กิตติก้อง กล่าวว่า “คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มีส่วนร่วมในการแสดงครั้งนี้ในด้านการกำกับการแสดง และเป็นกลุ่มนักแสดงหลักที่ทำงานร่วมกับนักแสดงในพื้นที่ เช่น น้อง ๆ นาฏศิลป์จากโรงเรียนทัพพระยาพิทยา และพี่ ๆ ตำรวจตระเวนชายแดนและทหาร โดยมี อาจารย์พชญ อัคพรามหณ์ อาจารย์ประจำแขนงวิชาการละคร รับหน้าที่เป็นผู้กำกับการแสดงและเขียนบท อาจารย์พงศธร ยอดดำเนิน อาจารย์ประจำแขนงวิชานาฏศิลป์ เป็นผู้กำกับศิลป์ ทั้งด้านเสื้อผ้าและลีลา รต.ภูวไนย ดิเรกศิลป์ อาจารย์พิเศษประจำแขนงวิชาดนตรีพื้นเมือง ทำหน้าที่เป็นผู้ประพันธ์และเรียบเรียงดนตรี และทีมงานนักแสดงโดยนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่าจากแขนงวิชาการละคร ซึ่งการเดินทางครั้งนี้ถือว่าได้สร้างประสบการณ์ที่ดีสำหรับนักศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมต่อศิลปะการแสดงกับเรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์และชุมชนในบริบทต่าง ๆ ถือเป็นการฝึกปฏิบัติการของนักศึกษาในเชิงวิชาชีพด้านการแสดง เพิ่มพูนประสบการณ์ของนักศึกษาในด้านการทำงานกับองค์กรที่หลากหลาย อีกทั้งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของคณาจารย์ภายในหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิตเป็นอย่างดี”
……….นับเป็นการนำเอาองค์ความรู้ออกสู่สังคม มีการทำงานเป็นทีมอย่างมืออาชีพ สร้างความเชี่ยวชาญให้กับนักศึกษา มีความเชี่ยวชาญ ด้านศิลปะประจําท้องถิ่นโดยเฉพาะของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในฐานะเป็นศูนย์กลางการศึกษาค้นคว้าวิจัยและเพื่อบริการทางวิชาการด้านศิลปกรรมศาสตร์สาขาต่างๆ แก่สังคมและหน่วยงาน ทั้ง ภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งอนุรักษ์ ส่งเสริม และพัฒนา ศิลปวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่ตลอดไป ดังวิสัยทัศน์แห่งคณะศิลปกรรมศาสตร์ ในการเป็นศูนย์กลางการวิจัยและสร้างสรรค์ทางด้านศิลปกรรมในอาเซียน
ข่าว/ภาพ : ผศ.ดร. ธนัชพร กิตติก้อง
ในรายวิชา FA 122 203 การออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงจันทร์ นาชัยสินธุ์อาจารย์ประจำหลักสูตรออกแบบนิเทศศิลป์ นำนักศึกษา ชั้นปีที่ 2 จำนวน 52 คน เข้าศึกษาดูงานเชิงปฎิบัติการ ในวันที่ 18 มีนาคม ณ บริษัทไทยเฮอร์เบิลสแตนดาร์ด จำกัด ในกิจกรรม การขึ้นรูปขวด ฉลากฟิล์มหด โรงพิมพ์เสกสรรปริ้นติ้ง การออกแบบ ระบบการพิมพ์ ระบบการผลิต โดย คุณเสกสรร งามดี และในวันที่ 19 มีนาคม ณ พื้นที่ KKU Maker Space รศ.นพ.สุพัชญ์ สีนะวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด ให้การต้อนรับ ชั้น 1 อาคาร 2 สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปฎิบัติการเรียนรู้การใช้เครื่องมือสำหรับการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์(เครื่อง3D Printing Laser Cutter และ 3D Pen)
เมื่อวันที่ 6-7 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา แขนงวิชาการละคร สาขาวิชาดนตรีและการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ ได้จัดแสดงผลงานละครเวทีสำหรับเด็กเรื่อง “หมู่บ้าน ฟ.ฟัน” ผลงานศิลปะการแสดงนิพนธ์ของนักศึกษาการละครชั้นปีที่ 4 ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการสร้างสรรค์จากกองทุนสนับสนุนการวิจัยคณะศิลปกรรมศาสตร์ในระดับปริญญาตรี ณ Performing Arts Studio คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยผลงานละครเรื่องนี้ได้จัดแสดงครั้งแรกในเทศกาลละครธีสิสครั้งที่ 4 เมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมาและได้รับการตอบรับจากผู้ชมอย่างท่วมท้น
การนำผลงานละครกลับมาแสดง (re-stage) ในครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือระหว่างสองคณะ คือ คณะศิลปกรรมศาสตร์และคณะทันตแพทยศาสตร์ นำโดย อาจารย์พชญ อัคพราหมณ์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะศิลปกรรมศาสตร์ และ ผศ.ดร.ทพญ.สุวดี เอื้ออรัญโชติ คณะทันตแพทยศาสตร์ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเปิดเวทีการแสดงสำหรับผู้ชมเด็กและครอบครัวแล้ว ยังเป็นการเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาของทั้งสองคณะได้แลกเปลี่ยนมุมมองการทำงานเชิงสหวิทยาการ โดยเฉพาะองค์ความรู้ด้านการสร้างสรรค์ศิลปะละครเวทีเพื่อนำเสนอความรู้ทางทันตสุขศึกษาแก่กลุ่มเป้าหมาย คือ เด็ก เยาวชน และครอบครัว ผ่านกิจกรรมเสวนาหลังการแสดง (post-show talk ) หลังการแสดงในรอบ 17.00 น. ของทั้งสองวัน โดยการกลับมาของ หมู่บ้าน ฟ.ฟัน ครั้งนี้ ยังคงได้รับเสียงตอบรับจากผู้ชมอย่างดียิ่ง โดยบัตรเข้าชมการแสดงทั้ง 6 รอบ ถูกจำหน่ายไปอย่างรวดเร็วหลังเปิดให้จองเพียง 1 สัปดาห์
ในการนี้ ผู้บริหารคณะซึ่งประกอบด้วย รศ.ดร.ทพญ.วรานุช ปิติพัฒน์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ และ ผศ.ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ ได้เข้าร่วมชมการแสดงพร้อมด้วยคณาจารย์และนักศึกษาจากทั้งสองคณะ ทั้งนี้ ผศ.ดร.ธนัชพร กิตติก้อง ได้เป็นผู้แทนแขนงวิชาการละคร คณะศิลปกรรมศาสตร์ มอบของที่ระลึกแก่คณบดีทั้งสองท่านรวมถึงผู้ให้การสนับสนุนในการจัดการแสดง โดย รศ.ดร.ทพญ.วรานุช ปิติพัฒน์ ได้กล่าวแสดงความชื่นชมแก่นักศึกษาผู้สร้างสรรค์ผลงานละคร ที่ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะการแสดงที่สามารถนำองค์ความรู้ทางทันตสุขศึกษาไปประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างเสริมสุขภาพช่องปากให้กับกลุ่มเป้าหมาย และเป็นต้นแบบแก่นักศึกษาทันตแพทย์ได้เป็นอย่างดี และหลังจากนี้ทั้งสองคณะจะได้สร้างความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยน “เครื่องมือ” ของทั้งสองศาสตร์ในการสร้างสรรค์และต่อยอดเชิงสหวิทยาการต่อไป
ในระหว่างวันที่ 4 – 13 มีนาคม ได้จัดกิจกรรมปฏิบัติการเชิงพื้นที่ห้องเรียนชุมชน(Social Lab) การบูรณาองค์ความรู้ผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผศ.ดร.ดวงจันทร์ นาชัยสินธุ์ อาจารย์ประจำหลักสูตร นำนักศึกษาแขนงวิชาบรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์และนิทรรศการ ชั้นปีที่ 2 ร่วมพัฒนาทักษะด้านการสร้างสรรค์ และนวัตกรรม ความร่วมมือ การทำงานเป็นทีมและภาวะผู้นำ การบูรณาการกิจกรรมร่วมกันในรูปแบบการจัดการองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นทั้งในสถานศึกษาร่วมกับชุมชน เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจในรูปแบบของทักษะชีวิต ทักษะสังคม ความรู้และความสามารถเชิงบูรณาการ ทั้งด้านการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ รวมถึงการร่วมสร้างนวัตกรรม สู่บัณฑิตที่มีคุณภาพ โดยมีกิจกรรมทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ชุมชน กลุ่มฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ “JUTATIP” ปฏิบัติการย้อมครามโดย คุณจุฑาทิพ ไชยสิระ กิจกรรมการออกแบบทดลองลวดลายใหม่และแบบดั้งเดิม ปฏิบัติการทอขึ้นลายพื้นฐานการทอผ้าแบบอีสาน โดย ผศ.ดร. วาริน บุญญาพุทธิพงศ์ สาขาวิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ กิจกรรมปฏิบัติการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชนศิลาโฮมสเตย์ ปฏิบัติการย้อมผ้าสีธรรมชาติจากดอกดาวเรืองและกิจกรรมกิจกรรม โรงงานพิมพ์ทองเค การทำกล่องบรรจุภัณฑ์ งานปั๊ม บล็อคไดคัท (Die-cut)สำหรับโครงสร้างบรรจุภัณฑ์รูปทรงต่างๆ โดยคุณปัญญา พิมพ์ทองเค
เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 09.00 น. คณะผู้บริหารและอาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ อาจารย์ ดร.ภัทร์ คชภักดี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์พิทยา สัพโส อาจารย์ ดร. สัมฤทธิ์ ภูกงลี และ อาจารย์อาทิตย์ กระจ่างศรี ได้เดินทางไปยังห้องประชุมวิทยสนเทศ ฝ่ายวิชาการ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระบบการเรียนการสอนผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของคณะแพทยศาสตร์ หน่วยส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนการสอนด้วยคอมพิวเตอร์ (CAI) โดยได้รับเกียรติจากคณะผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์ให้การต้อนรับ รองศาสตราจารย์ นพ. อภิชาต จิระวุฒิพงศ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการระบบการเรียนการสอนดังกล่าว ร่วมกับคณะผู้บริหารคณะฯ อาทิ รองศาสตราจารย์ นพ. สุรพล วีระศิริ ที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ, รองศาสตราจารย์ พญ. กมลวรรณ เจนวิถีสุข รองคณบดีฝ่ายวิชาการ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์อิสราภรณ์ แก้ววงษา ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ และบุคลากร หน่วยส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนการสอนด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานขับเคลื่อน จัดการระบบการจัดการเรียนการสอนผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของคณะแพทยศาสตร์ หรือ “KKUMEDX” การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ถือเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์อันทรงคุณค่าของคณะแพทยศาสตร์ อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่ทางคณะศิลปกรรมศาสตร์จะนำไปใช้เป็นแนวทางขับเคลื่อนและพัฒนาหน่วยการผลิตสื่อดิจิทัลเต็มรูปแบบ หรือ Production House ซึ่งคณะฯ ได้รับมอบหมายนโยบายจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในวาระต่อไป
ภาพ : ฝ่ายวิชาการคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น