เมื่อวันที่ 20- 22 มีนาคม 2564 คณาจารย์ และนักศึกษาของหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาศิลปะการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนัชพร กิตติก้อง อาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปะการแสดง ผู้อำนวยการและผู้ประสานงาน ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงานแสดงแสงสีเสียงปราสาทสด๊กก๊อกธม ณ อุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม ตำบลโคกสูง อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการท่องเที่ยวแหล่งอารยธรรมขอมโบราณตามรอยปราสาทศิลา ปราสาทสด๊กก๊อกธม และมหกรรมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมตามรอยทวารวดีและขอมโบราณ โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสระแก้ว โดยมี นายเกียรติศักดิ์ จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เป็นประธานในพิธีเปิด
……….งานแสดง แสง สี เสียงและสื่อผสม ชุด “สด๊กก๊อกธม มหาเทวราชา ภัทรปัตนะนคร” เป็นการเล่าเรื่องราวกำเนิดปราสาทสด๊กก๊อกธม นำเสนอผ่านเรื่องราวหลักของต้นตระกูลพราหมณ์ของวัฒธรรมขอม ผู้ทำหน้าที่เชื่อมต่อหลายสิ่งหลายอย่างโดยเฉพาะพิธีกรรมแบบลัทธิเทวราชา และมีบทบาทสำคัญต่อพื้นที่แถบถิ่นเขมร-ลาว-สยาม
……….การแสดงได้แบ่งออกเป็น 2 ชุด โดยการแสดงชุดแรก เรื่อง “สด๊กก๊อกธม มหาเทวราชา ภัทรปัตนะนคร” กำกับการแสดงโดยอาจารย์ พชญ อัคพราหมณ์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะศิลปกรรมศาสตร์ และนำแสดงโดยนักศึกษาแขนงวิชาการละคร โดยมีดารานักแสดงจากช่อง 7 คุณบูม กิตตน์ก้อง ขำกฤษ ร่วมแสดงด้วย และการแสดงชุดที่ 2 เรื่อง “สระแก้ว สระขวัญ บรรพนิมิต” กำกับและเขียนบทโดยอาจารย์ พชญ อัคพราหมณ์ และนำแสดงโดยนักศึกษาแขนงวิชาการละครเช่นกัน โดยมีดารานักแสดงจากช่อง 3 คุณแจ็คกี้ ชาเคอลีน มึ้นช์ ร่วมแสดงด้วย
.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนัชพร กิตติก้อง กล่าวว่า “คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มีส่วนร่วมในการแสดงครั้งนี้ในด้านการกำกับการแสดง และเป็นกลุ่มนักแสดงหลักที่ทำงานร่วมกับนักแสดงในพื้นที่ เช่น น้อง ๆ นาฏศิลป์จากโรงเรียนทัพพระยาพิทยา และพี่ ๆ ตำรวจตระเวนชายแดนและทหาร โดยมี อาจารย์พชญ อัคพรามหณ์ อาจารย์ประจำแขนงวิชาการละคร รับหน้าที่เป็นผู้กำกับการแสดงและเขียนบท อาจารย์พงศธร ยอดดำเนิน อาจารย์ประจำแขนงวิชานาฏศิลป์ เป็นผู้กำกับศิลป์ ทั้งด้านเสื้อผ้าและลีลา รต.ภูวไนย ดิเรกศิลป์ อาจารย์พิเศษประจำแขนงวิชาดนตรีพื้นเมือง ทำหน้าที่เป็นผู้ประพันธ์และเรียบเรียงดนตรี และทีมงานนักแสดงโดยนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่าจากแขนงวิชาการละคร ซึ่งการเดินทางครั้งนี้ถือว่าได้สร้างประสบการณ์ที่ดีสำหรับนักศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมต่อศิลปะการแสดงกับเรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์และชุมชนในบริบทต่าง ๆ ถือเป็นการฝึกปฏิบัติการของนักศึกษาในเชิงวิชาชีพด้านการแสดง เพิ่มพูนประสบการณ์ของนักศึกษาในด้านการทำงานกับองค์กรที่หลากหลาย อีกทั้งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของคณาจารย์ภายในหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิตเป็นอย่างดี”
……….นับเป็นการนำเอาองค์ความรู้ออกสู่สังคม มีการทำงานเป็นทีมอย่างมืออาชีพ สร้างความเชี่ยวชาญให้กับนักศึกษา มีความเชี่ยวชาญ ด้านศิลปะประจําท้องถิ่นโดยเฉพาะของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในฐานะเป็นศูนย์กลางการศึกษาค้นคว้าวิจัยและเพื่อบริการทางวิชาการด้านศิลปกรรมศาสตร์สาขาต่างๆ แก่สังคมและหน่วยงาน ทั้ง ภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งอนุรักษ์ ส่งเสริม และพัฒนา ศิลปวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่ตลอดไป ดังวิสัยทัศน์แห่งคณะศิลปกรรมศาสตร์ ในการเป็นศูนย์กลางการวิจัยและสร้างสรรค์ทางด้านศิลปกรรมในอาเซียน
ข่าว/ภาพ : ผศ.ดร. ธนัชพร กิตติก้อง