มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ สหมงคลฟิล์ม จัดงานการแถลงข่าว นักวิจัย มข.พบสื่อมวลชน เรื่อง “หมอลำมาเนีย การต่อยอดจากงานวิจัย จากรากเหง้าทางวัฒนธรรม สู่ภาพยนตร์แห่งจิตวิญญาณ)” โดย นายนันทวุธ ภูผาสุก สาขาวิจัยศิลปะและวัฒนธรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ และทีมวิจัย
เมื่อวันอังคารที่ 15 มกราคม 2562 เวลา 16.00 น. – 18.00 น. มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีแถลงข่าวนักวิจัย มข.พบสื่อมวลชน เรื่อง “หมอลำมาเนีย การต่อยอดจากงานวิจัย จากรากเหง้าทางวัฒนธรรม สู่ภาพยนตร์แห่งจิตวิญญาณ)” ซึ่งมีศ.ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายเทคโนโลยี รศ.ดร นิยม วงศ์พงษ์คำ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ และ คุณปรัชญา ปิ่นแก้ว จากสหมงคล ร่วมแถลงข่าว ณ ศูนย์อาหารคอมเพล็ค มหาวิทยาลัยขอนแก่น
“หมอลำมาเนีย” เป็นเรื่องของความฝัน ความฝันของเด็กบ้านนอกมีความฝันที่อยากทำอะไรที่มันยิ่งใหญ่มันเหมือนกับเป็นภาพสะท้อนความฝันของวัยรุ่นยุคใหม่ อยากทำอะไรที่มันประสบความสำเร็จ เล่าเรื่องผ่านตัวละครหลัก 3 คนที่เป็นเพื่อนกัน ซึ่งมีความฝันเดียวกัน นั้นคือ การก่อตั้งวงดนตรีหมอลำที่คนทั้งโลกเข้าถึง อยากทำในสิ่งที่มันเกินตัว ที่ดูแล้วมันไม่น่าจะทำได้ แต่มันคือเป้าหมายที่คนเราต้องมี คืออยากเอาหมอลำไปเผยแพร่ในในระดับโลก พวกเขาสามคนกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง พอดีกับที่ในหมู่บ้านก็มีจัดออดิชั่นวงดนตรีขึ้น สามคนก็เลยไปตามหาไปรวบรวมสมาชิกมาสร้างวงด้วยกัน ก็เหมือนเป็นภาพสะท้อนของเรา ที่เราเองก็เป็นคนทำหนังแล้วก็อยากจะเผยแพร่ผลงานของเราให้คนทั่วประเทศคนทั่วโลกได้เห็นเรื่องราวของหนังหมอลำมาเนีย
ชื่อ หมอลำมาเนีย “มาเนีย” มาจากภาษาอังกฤษแปลว่า “คลั่งไคล้ หลงใหล บ้าคลั่ง” ในขณะที่พวกคนรอบข้างพวกไทบ้านชาวบ้านเขาก็จะมองว่าพวกนี้เป็นพวกบ้าผีบ้า แต่เขา 3 คนนี้เขาก็ไม่ได้สนใจว่าคนอื่นจะมองยังไง
พวกเขายังยึดมั่นในความฝันของตัวเอง โดยที่เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นมันก็จะอยู่ในสังคมอีสานบ้านเรา เป็นสิ่งที่ตัวเราได้เผชิญและเป็นประสบการณ์ของเราเอง แล้วก็นำมาพัฒนาต่อยอดให้มันกลายเป็นหนังเรื่องนี้ หมอลำมาเนียเป็นภาพยนตร์คอมเมอดี้ตลกด้วยสถานการณ์ของตัวละครที่จะต้องเผชิญอยู่ทั้งเรื่องราวความรัก ความฝัน ผ่านความสนุกสนานและอุปสรรคต่างๆ จะว่าไปแล้วความฝันของทีมงานเองก็ไม่ต่างจากตัวละครในหนังมันยิ่งใหญ่เกินตัวมากๆ ในฐานะคนทำหนังเรื่องนี้ก็อยากให้คนดูดูแล้วสนุกไม่เบื่อแค่นั้นเลย
นาย นันทวุธ ภูผาสุก กล่าวว่า “ก่อนหน้านี้เราไม่ได้มีความอินกับหมอลำพอ แต่พอเราศึกษาไป เราอยากทำหนังสักเรื่องหนึ่ง เราก็เลยไปอ่านพวกประวัติหมอลำดู เออมันดูน่าสนใจ เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าหมอลำมันมีหลายทำนองมีหลายแบบ จนเราได้ศึกษาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เราก็เลยเลือกหัวข้อหลักหัวข้อที่จะทำ Thesis ของเราเป็นเรื่องหมอลำ แต่ว่าที่สาขาที่เรียนปริญญาโทเขาจะมีเป็นศิลปะนิพนธ์ ก็คือมีผลงานด้วย แล้วก็มีตัวเล่มวิจัยด้วย เราก็เลือกที่จะทำศิลปะนี้ หลังจากนั้นก็พัฒนามาเป็นภาพยนตร์สั้น จนเป็น Thesis จบก็เป็นเรื่อง “หมอลำมาเนีย” จนมามีโอกาสคือ พี่ปรัช ปรัชญา ปิ่นแก้ว ได้เห็นตัวอย่างภาพยนตร์เรื่องหมอลำมาเนียของเรา เขาเห็นแล้วเขาก็เลยชวนมาทำโปรเจคต์นี้ เรื่องนี้เป็นคอมเมดี้อีสาน พี่ปรัชสนใจในเรื่องหมอลำและให้พัฒนาต่อกลายเป็นหนังใหญ่ แล้วก็ได้รับความช่วยเหลือจาก อาจารย์นิยม ซึ่งเป็นหัวหน้าประธานหลักสูตรปริญญาโทปริญญาเอกมหาบัณฑิตกับดุษฎีบัณฑิตของที่คณะ ซึ่งอาจารย์พพยายามผลักดันเราตลอด สุดท้ายภาพยนตร์เรื่อง หมอลำมาเนีย จึงเกิดขึ้นโดยมี พี่ปรัชญา ปิ่นแก้ว เป็นโปรดิวเซอร์ และ อาจารย์นิยม ควบคุมดูแลเรื่องของการผลิต “
เรื่องหมอลำมาเนียความตั้งใจของเราคือมันมีพื้นฐานมาจากงานวิจัยปริญญาโท แต่ว่าด้วยความที่เป็นภาพยนตร์ เพราะฉะนั้นพวกฐานความรู้เพื่อความรู้อะไรพวกนี้หรือที่ไปที่มาของหมอลำ มันก็จะถูกเคลือบด้วยความเป็น Comedy มันเป็นความสนุกสนานที่หนังเขาจะพูดกัน มันก็จะมีฉากที่คนอีสานเขาดูเขาเห็น อย่างในหนังเราก็จะมีอย่างพวกฉากดีดลูกแก้วหยอดขนมสายไหมอะไรพวกนี้ มันจะเป็นมันเป็นฉากที่คนอีสานดูแล้วรู้สึกได้ พอรู้สึกถึงมันแล้วก็อาจจะทำให้คนอีสานเหมือนคิดถึงบ้านขึ้นมาว่าความทรงจำในวัยเด็กของเราเป็นยังไงซึ่งความทรงจำสมัยเด็กๆที่เราเอามาใช้ในหนัง เป็นภาพสะท้อนการโหยหาอดีตของเราเอง แต่เราก็ไม่ได้เทิดทูน ความอีสานจ๋าขนาดนั้น เพราะในความคิดของเรา วัฒนธรรมที่ไม่ยอมปรับเปลี่ยนมันก็คือ วัฒนธรรมที่ตายแล้ว เพราะฉะนั้นภาษาหนังของเราก็จะเป็นอีกแบบ มีความเอดการ์ ไรต์ มีความโจวชิงฉือ มีจังหวะที่หนังอีสานไม่ค่อยทำกัน การเปลี่ยนคัตเปลี่ยนซีน เราก็ออกแบบให้มันเชื่อมกัน