Open menu

     คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยอาจารย์พงศธร ยอดดำเนิน อาจารย์ประจำสาขาวิชาดนตรีและการแสดง (ผู้ฝึกสอน) นำนักศึกษาหลักสูตรวิชาเอกนาฏยศิลป์อีสาน สาขาวิชาดนตรีและการแสดง คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในการประกวดการแสดงศิลปวัฒนธรรม “สืบสานวัฒนศิลป์ แผ่นดินสยาม” ครั้งที่ 1 ชิงถ้วยพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเงินรางวัลรวมกว่า 1 ล้านบาท จัดโดยกองทัพบก ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม และบริษัท ปตท. จำกัด เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๖๙ พรรษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และร่วมสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการ “สืบสาน รักษา และต่อยอด” ในด้านการอนุรักษ์ ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ให้คงอยู่ในประเทศไทย และเพื่อเสริมสร้างความรัก ความศรัทธา ปลูกจิตสำนึกและแรงกระตุ้นให้กับประชาชนทุกหมู่เหล่าได้เทิดทูนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์โดยใช้การแสดงเป็นสื่อกลาง ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนส่งทีมเข้าร่วมประกวดครั้งนี้เป็นจำนวน 94 ทีม ในรูปแบบออนไลน์

     และในวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๔ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้พิจารณากลั่นกรองผลงานที่ส่งเข้าร่วมประกวดและทำการคัดเลือกทีมที่ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ๑๐ ทีมสุดท้าย ผลปรากฏว่าคณะโกนเจา จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็น ๑ ใน ๑๐ ที่ได้รับการคัดเลือกจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และเมื่อวานนี้ ๒๙ กันยายน ๑๕๖๔ เวลา ๑๓.๐๐ น. เป็นการประกวดในรอบชิงชนะเลิศ ทีมโกนเจาสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ มาได้อย่างภาคภูมิ

     อาจารย์พงศธร ยอดดำเนิน ได้กล่าวถึงเนื้อหาบางส่วนของการแสดงว่า “ฉากบวชนาค แห่นาคหลังช้าง แบบพื้นบ้านอีสานใต้ ๑ ใน ๔ เป็นฉากของการแสดงเมื่อวาน จากทีมมหาวิทยาลัยขอนแก่น ช่วงการแสดงนี้ชื่อว่า “พระผู้ทรงเอกอัครศาสนูปถัมภก” นำเสนอเรื่องราวพระราชกรณียกิจด้านศาสนา ผ่านพิธีกรรมบวชนาคแบบเขมรถิ่นไทยกับแนวคิดที่ว่า “บวชเรียนแทนพระคุณบุพการี แม้แต่องค์กษัตราก็ทรงรักษาศาสนาพุทธเรา”ตัวละครหลักคือ พี่ชายที่ไปเป็นทหาร กลับมาบวชทดแทนพระคุณ. เราเชื่อมเรื่องด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระพันปีและพระราชินีสุทิดาด้านการทอผ้า  คุณยายตั้งใจและรอคอยวาระสำคัญของคนในครอบครัว “ทอผ้า” ที่ดีที่สุดด้วยความรักเพื่อให้หลานชายได้นุ่งในพิธีทำขวัญและนุ่งไปบวช ตามประเพณี คติความเชื่อ เรื่องผ้าและเครื่องแต่งกายในพิธีกรรมบวชนาคเขมรถิ่นไทย  ดนตรีและขับลำนำ ประโคมรับขวัญนาค และแห่แหนไปบวช เป็นเครื่องสะท้อนสภาพสังคมที่อุดมไปด้วยความเชื่อด้านต่าง ๆ ตามคำโบราณที่ไว้สอนเจ้าบ่าว เจ้าสาว ในพิธีทำขวัญแต่งงาน “บานโกนเปราะฮ์ ออยบานตุม กะบาลตำแร็ย” แปลว่า หากมีลูกชาย ให้ได้นั่งหัวช้าง (นั่งช้างไปบวช) ”

     โกนเจา เป็นภาษาเขมรแปลว่า ลูกหลาน ที่ตั้งชื่อนี้เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการเรียนการสอนแบบปฏิบัติการของนักศึกษาชั้นปีที่ 2 แขนงวิชานาฏยศิลป์อีสาน ในรายวิชานาฏยศิลป์กลุ่มวัฒนธรรมโคราช-กันตรึม (นาฏศิลป์อีสานใต้) ภาคเรียนที่ 1 / 2564 เลยใช้ชื่อให้มีภาษาถิ่นตามรายวิชา ผู้แสดงยกทั้งชั้นเรียนเพื่อได้ร่วมกันทำงานทั้งรุ่น

ขอขอบคุณข้อมูล / ภาพ พงศธร ยอดดำเนิน

 1

3

4

5

7

6

9

10

 

 

 

 

 

 

                                                                                                                                          

     
         
       
       
     

 

                                                                  

   

ข่าวประชาสัมพันธ์

สานศิลป์ (จดหมายข่าว)