สาขาวิชาการแสดง ร่วมกับ คณะศิลปกรรมศาสตร์ และฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดการประกวดละครเยาวชนสร้างสรรค์แก่นอีสานวัฒน์ครั้งที่ 3 ประจำปีพุทธศักราช 2564 ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี รอบชิงชนะเลิศ ภายใต้แนวคิด "คิดอย่างสร้างสรรค์ ทำอย่างยั่งยืน" เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา
การแข่งขันในปีนี้ได้ดำเนินการถ่ายทอดสดผลงานการแสดงของนักเรียนโรงเรียนมัธยมในภาคอีสานที่ผ่านเช้ารอบชิงชนะเลิศจำนวน 10 ทีม ในรูปแบบออนไลน์ผ่านเฟสบุ๊คแฟนเพจแก่นอีสานวัฒน์ ซึ่งมีผู้เข้าชมขณะถ่ายทอดสดมากถึง 14,800 คน ยอดแชร์จำนวน 734 ครั้ง และความคิดเห็นจากผู้ชมจำนวน 27,600 รายการ นับว่าเป็นจำนวนสถิติผู้เข้าชมที่สูงมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์พชญ อัคพราหมณ์ ประธานโครงการได้กล่าวว่า "การดำเนินกิจกรรมละครแแก่นอีสานวัฒน์ในปีนี้มีความท้าทายจาก Covid-19 เป็นอย่างมาก การสร้างสรรค์ศิลปะการละครไม่สามารถทำได้บนเวทีในโรงละครตามปกติ และเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบใหม่ผ่านวิถีดิจิทัล เช่น การใช้โปรแกรม Zoom หรือ Google meet รวมทั้งการตัดต่อทั้งภาพและเสียง โดยใช้หลัก Social distancing เป็นสิ่งใหม่ที่ทั้งผู้จัดโครงการ คุณครูและนักเรียนโรงเรียนต่าง ๆ ได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน ผลงานละครที่เกิดขึ้นจะเป็นลักษณะ Play reading มุ่งเน้นการอ่านบทละครเพื่อดูว่า เนื้อหา สาระ และความคิดของบทละครมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ หรือตอบโจทย์แก่นอีสานวัฒน์มากน้อยเพียงใด"
ทั้งนี้ทางโครงการยังได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วย รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฯ เป็นผู้กล่าวรายงานการดำเนินโครงการ โดยดำเนินการผ่านรูปแบบออนไลน์ และมี ผศ.ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ เป็นผู้มอบถ้วยรางวัลและเงินรางวัลแก่ทีมที่ได้รับรางวัลประเภทต่าง ๆ โดยมี Core team แก่นอีสานวัฒน์เป็นผู้รับมอบแทน
คณะกรรมการตัดสินในปีนี้ประกอบด้วย ศาสตราจารย์พรรัตน์ ดำรุง เมธีวิจัยอาวุโส สกว. และภาคีสมาชิกราชบัณฑิต สาขานาฏกรรม เป็นประธานกรรมการ พร้อมด้วย ผศ.ดังกมล ณ ป้อมเพชร อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปการละครและรองคณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.ปริดา มโนมัยพิบูลย์ หัวหน้าภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.ธนัชพร กิตติก้อง อาจารย์สาขาวิชาการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคุณสุมาลี สุวรรณกร ประธานเครือข่ายสื่อศิลปวัฒนธรรมอีสาน
ทีมที่ชนะเลิศการประกวดละครเยาวชนสร้างสรรค์แก่นอีสานวัฒน์ครั้งที่ 3 ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้แก่ ผลงานละครเรื่อง "ซาวด์บ้าน" จากโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน จังหวัดขอนแก่น ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ผลงานละครเรื่อง "เงินบุญ" จากโรงเรียนพานพร้าว จังหวัดหนองคาย และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ผลงานละครเรื่อง "โฮมศรัทธา" จากโรงเรียนอุบลรัตนราชกัญญาราชวิทยาลัย นครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา
คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดยฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ได้ดำเนินโครงการ Arts for All ศิลป์ มข. สร้างสรรค์ชุมชนต้นแบบ ระหว่างเดือนมิถุนายน - กันยายน 2564 ซึ่งในระยะแรกเป็นการลงพื้นที่บ้านขาม ต.เป็นสุข อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ เพื่อศึกษาชุมชนและทำกิจกรรมระดมความคิดเห็นจากชุมชน เพื่อคัดสรรประเด็นในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างคณะศิลปกรรมและชุมชน โดยได้ชูประเด็น "วัฒนธรรมอาหาร" ที่มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นทั้งอาหารคาวและหวาน มานำเสนอให้ผู้คนทั่วไปได้รู้จักและเข้าถึงชุมชนบ้านขามผ่าน "ศิลปะ"
การดำเนินโครงการ Arts for All ในปีนี้ เป็นระยะแรกของทางโครงการ ซึ่งมุ่งเน้นการเปิดบ้าน-เปิดชุมชน ให้ผู้สนใจภายนอกได้เข้าถึงชุมชนผ่านการนำเสนอด้วยศาสตร์ศิลปะแขนงต่าง ๆ อาทิ ภาพยนตร์สารคดี ภาพถ่าย ดนตรี นาฏศิลป์ และการแสดง ผ่านงานแสดงและนิทรรศการ "เซราะอำปึล" ระหว่างวันที่ 16-19 กันยายน 2564 ณ หอศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี ผศ.ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล คณบดีคณศิลปกรรมศาสตร์เป็นประธานในพิธีเปิด และมีผู้แทนจากชุมชนบ้านขามเข้าร่วมงานในครั้งนี้
บรรยากาศในงานแสดงและนิทรรศการ "เซราะอำปึล" ยังมีกิจกรรมต่าง ๆ อีกมากมาย อาทิ การเสวนาในหัวข้อ "ศิลปะหลากสาขากับการสร้างคุณค่าร่วมในชุมชน" โดยคณาจารย์ในโครงการ ได้แก่ ผศ.พชญ อัคพราหมณ์, อาจารย์อาทิตย์ กระจ่างศรี, อาจารย์พงศธร ยอดดำเนิน และอาจารย์อิทธิพันธ์ ศรีผ่อง พิธีเปิดโครงการด้วยพิธีกรรมยกธงชนะมาร ซึ่งเป็นพิธีกรรมโบราณของชาวเขมรถิ่นไทยในชุมชนบ้านขาม การแสดงดนตรีกันตรึมของนักศึกษา ซึ่งเป็นวงกันตรึมคณะแรกของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฯลฯ ทั้งนี้กิจกรรมได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีทั้งจากคณาจารย์ นักศึ
กษา และผู้สนใจทั่วไป
แขนงวิชาดนตรีพื้นเมือง สาขาดนตรีและการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดการประกวดวงดนตรีและขับร้องพื้นบ้านอีสานสร้างสรรค์“แตกลาย” ครั้งที่ ๑ ประจำปี ๒๕๖๔ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้สนใจทั่วไปที่มีความสามารถทางด้านดนตรีและการขับร้องพื้นบ้านอีสาน ได้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในรูปแบบออนไลน์เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีแนวโน้มขยายพื้นที่การระบาดออกไปในวงกว้าง ซึ่งมีหลักเกณฑ์การรับสมัครของผู้เข้าร่วมประกวดสมาชิกในวงดนตรีและขับร้องพื้นบ้านอีสานสร้างสรรค์ เป็นประชาชนคนไทยไม่จำกัดอายุ โดยวงดนตรีและการขับร้องพื้นบ้านอีสาน ๑ วง ต้องประกอบไปด้วยนักดนตรีและนักร้องไม่เกิน ๕ คน ไม่จำกัดเครื่องดนตรี เครื่องดนตรีต้องเป็นแบบฉบับของอีสานเท่านั้น ห้ามใช้เครื่องดนตรีไฟฟ้า มีผู้ที่สนใจสมัครเข้าร่วมประกวดครั้งนี้อย่างมากมาก สำหรับกำหนดจัดกิจกรรมการประกวดวงดนตรีและขับร้องพื้นบ้านอีสานสร้างสรรค์ออนไลน์ ระหว่างวันที่ ๒๔ สิงหาคม ถึง ๑๓ กันยายน ๒๕๖๔ ดังนั้น และผลการตัดสินจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านดนตรีพื้นเมืองอีสาน ได้พิจารณาและเห็นชอบรางวัลแก่วงดนตรีที่ส่งเข้าประกวด พร้อมทั้งเข้ารับมอบรางวัลจาก ผศ.ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๔ ณ ห้องประชุมดอกศิลป์ ๑ มีดังนี้ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ วงขวัญ จากจังหวัดขอนแก่น รับเงินรางวัล๘,๐๐๐ บาท
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ได้แก่ วงสวนเตี่ย จากจังหวัดมหาสารคาม รับเงินรางวัล ๖,๐๐๐ บาท และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ ได้แก่ วงคีตศิลป์ถิ่นน้ำมูล จากจังหวัดอุบลราชธานี รับเงินรางวัล ๔,๐๐๐ บาท สำหรับรางวัลชมเชย ได้รับเงินสนับสนุน ๕ รางวัล รางวัลละ ๑,๕๐๐ บาท ประกอบไปด้วย วงแจมส์ จังหวัดขอนแก่น วงเพชรซ้อมจ้อ จังหวัดอุดรธานี วงสืบศิลป์ วงดุริยศิลป์ จังหวัดกาฬสินธุ์ และวงโปงลางบัวแก้ว จังหวัดขอนแก่น
คณะศิลปกรรมศาสตร์ ร่วมกับฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการประกวดดนตรีไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและถ้วยประทานพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ณ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยจัดการประกวดผ่านระบบ Online ระหว่างวันที่ ๑๑-๑๒ กันยายน ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา ซึ่งผู้แข่งขันในแต่ละทีมจะแสดงสดในพื้นที่ของตนเองและถ่ายทอดสัญญาณเข้า Zoom Application ให้คณะกรรมการผู้ทรงวุฒิได้พิจารณารับชมการแสดง
ในวันแรกของการประกวด มีพิธีเปิดงานและกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประกวด คณะกรรมการ ตลอดจนผู้รับชมการแสดงในระบบ โดย ผศ.ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จากนั้นเป็นการประกวดเดี่ยวเครื่องดนตรีและขับร้อง ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา สำหรับวันที่สองของการประกวด ได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในพิธีเปิดพร้อมทั้งกล่าวแสดงความชื่นชมในการจัดโครงการครั้งนี้ ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของทางมหาวิทยาลัยที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ เสร็จสิ้นจากพิธีเปิด เป็นการประกวดวงดนตรีไทยระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา
สำหรับประเภทของการประกวดดนตรีไทยแบ่งเป็นประเภทต่าง ๆดังนี้ การประกวดเดี่ยวเครื่องดนตรีและขับร้อง ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ประกอบไปด้วย ๑. ขับร้อง ระดับประถมศึกษา ๒. ขับร้อง ระดับมัธยมศึกษา๓. จะเข้ ระดับประถมศึกษา ๔. จะเข้ ระดับมัธยมศึกษา ๕. ซอด้วง ระดับประถมศึกษา ๖. ซออู้ ระดับประถมศึกษา ๗. ขิม ระดับประถมศึกษา ๘. ซอสามสาย ระดับมัธยมศึกษา ๙. ระนาดเอก ระดับมัธยมศึกษา๑๐. ฆ้องวงใหญ่ ระดับมัธยมศึกษา ๑๑. ระนาดทุ้ม ระดับมัธยมศึกษา ๑๒. ฆ้องวงเล็ก ระดับมัธยมศึกษา ๑๓. ซอด้วง ระดับมัธยมศึกษา ๑๔. ขลุ่ยเพียงออ ระดับประถมศึกษา ๑๕. ซออู้ ระดับมัธยมศึกษา ๑๖. ขลุ่ยเพียงออ ระดับมัธยมศึกษา และ ๑๗.การประกวดวงเครื่องสายเครื่องเดี่ยว จำนวน ๘ วง
การประกวดวงดนตรีไทยระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา การประกวดวงเครื่องสายประสมปี่พาทย์ ระดับประถมศึกษา เพลงต้นเพลงฉิ่ง สองชั้น จำนวน ๖ วง การประกวดวงเครื่องสายเครื่องเดี่ยว ระดับมัธยมศึกษาเพลงอกทะเล สามชั้น จำนวน ๘ วง และการประกวดวงเครื่องสายประสมปี่พาทย์ ระดับมัธยมศึกษา เพลงเทพบรรทม สามชั้น จำนวน ๘ วง
สำหรับคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมพิจารณาตัดสินให้คะแนนผู้เข้าร่วมประกอบครั้งนี้ประกอบด้วย
๓.๑ ศาสตราจารย์เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี เป็นประธานกรรมการ
๓.๒ รองศาสตราจารย์จตุพร สีม่วง เป็นรองประธานกรรมการ
๓.๓ รองศาสตราจารย์จรัญ กาญจนประดิษฐ์ เป็นกรรมการ
๓.๔ รองศาสตราจารย์ธรณัส หินอ่อน เป็นกรรมการ
๓.๕ รองศาสตราจารย์พิภัช สอนใย เป็นกรรมการ
๓.๖ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศุภกิจ จารุจรณ เป็นกรรมการ
๓.๗ ผู้ช่วยศาสตราจารย์คมกริช การินทร์ เป็นกรรมการ
๓.๘ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วัศการก แก้วลอย เป็นการรมการ
๓.๙ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วราวุฒิ เรืองบุตร เป็นกรรมการ
๓.๑๐ ผู้ช่วยศาสตราจารย์บุตรี สุขปาน เป็นกรรมการ
๓.๑๑ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พรชัย ผลนิโครธ เป็นกรรมการ
๓.๑๒ นายศิลปชัย เจริญ เป็นกรรมการ
๓.๑๓ นายพิษณุ บุญศรีอนันต์ เป็นกรรมการ
๓.๑๔ นายราชันย์ เจริญแก่นทราย เป็นกรรมการ
๓.๑๕ นายชยุติ ทัศนวงศ์วรา เป็นกรรมการ
๓.๑๖ นายนราธร ยืนยั่ง เป็นกรรมการ