Open menu

เมื่อวานนี้ 29 มกราคม 2562 ณ พุทธมณฑลอีสาน จังหวัดขอนแก่น ได้มีการเคลื่อนสังขารหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ จากอาคารศูนย์ประชุมกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น ไปยังพุทธมณฑลอีสานเพื่อทำการฌาปนกิจ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ได้มีบทบาทรับผิดชอบในการจัดสร้างนกหัสดีลิงค์ตลอดจนจัดเตรียมพิธีกรรมต่างๆ ภายในงาน โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันโอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางมาเป็นประธานในพิธี

จากนั้นในเวลา 18.00 น. เป็นการเริ่มพิธีฆ่านกหัสดีลิงค์ โดยผู้สืบเชื้อสายนางสีดา (นางสาวเมทินี หวานอารมณ์) และคณะเจ้านางสีดา 50 คน ต่อด้วยกลุ่มนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขานาฎศิลป์พื้นเมือง จำนวน 99 คน ได้ฟ้องส่งสการ และในเวลา 19.00 น. ได้มีพิธีขอขมา ซึ่งมีคณบดี คณะต่างๆจากทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นผู้วางเครื่องสักการะ นายกสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี คณบดีคณะแพทยศาสตร์เป็นผู้จุดธูปเทียน  ในบริเวณโดยรอบประรำพิธีได้มีนักศึกษาคณะแพทย์ยืนล้อมรอบแปดเหลี่ยมเพื่อกราบขอขมาหลวงพ่อคูณปริสุทฺโธ เป็นครั้งสุดท้าย

 

เช้าวันนี้ 16 มกราคม 2562 เวลา 10.00 น. ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ร่วมกับคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ณ ห้องประชุมดอกศิลป์ 1 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีผู้บริหาร อาจารย์ จากทั้ง 2 หน่วยงานร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามครั้งนี้

โดยมีผู้แทนจากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานีลงนามคือ รศ.ดร.ชวลิต อธิปัตยกุล ประธานศูนย์การเรียนรู้พุทธศิลป์ถิ่นอีสาน และผู้แทนจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นโดย รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ เนื้อหาการลงนามความร่วมมือครั้งนี้เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้คณาจารย์ นักศึกษา นักวิจัยและนักวิชาการทั่วไปผลิตและเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ และดำเนินการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความเข้าใจ ความช่วยเหลือด้านวิจัยและวิชาการอื่นๆรวมทั้งบุคลากรระหว่างทั้ง 2 สถาบัน

15 มกราคม 2562 บุคลากร คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมออกร้านอาหารโรงทานแก่จิตอาสาการก่อสร้างเมรุลอยเพื่อใช้ในพิธีพระราชทานเพลิงศพ หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ พร้อมทั้งร่วมจัดทำดอกไม้จันทน์ เพื่อใช้ในงานพระราชพิธี ซึ่งการก่อสร้างครั้งนี้ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ เป็นหัวเรือใหญ่ในการดำเนินการก่อสร้างตามแบบโบราณที่ได้อ้างอิงไว้ ซึ่งจะแล้วเสร็จทันในวันที่ 29 มกราคม 2562 ซึ่งเป็นวันพระราชทานเพลิงศพ อย่างแน่นอน

มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ สหมงคลฟิล์ม จัดงานการแถลงข่าว นักวิจัย มข.พบสื่อมวลชน เรื่อง “หมอลำมาเนีย การต่อยอดจากงานวิจัย จากรากเหง้าทางวัฒนธรรม สู่ภาพยนตร์แห่งจิตวิญญาณ)” โดย นายนันทวุธ  ภูผาสุก สาขาวิจัยศิลปะและวัฒนธรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ และทีมวิจัย

เมื่อวันอังคารที่ 15 มกราคม  2562 เวลา 16.00 น. – 18.00 น. มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีแถลงข่าวนักวิจัย มข.พบสื่อมวลชน เรื่อง “หมอลำมาเนีย การต่อยอดจากงานวิจัย จากรากเหง้าทางวัฒนธรรม สู่ภาพยนตร์แห่งจิตวิญญาณ)” ซึ่งมีศ.ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล  รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายเทคโนโลยี   รศ.ดร นิยม วงศ์พงษ์คำ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์  และ คุณปรัชญา ปิ่นแก้ว  จากสหมงคล  ร่วมแถลงข่าว  ณ ศูนย์อาหารคอมเพล็ค มหาวิทยาลัยขอนแก่น

“หมอลำมาเนีย” เป็นเรื่องของความฝัน ความฝันของเด็กบ้านนอกมีความฝันที่อยากทำอะไรที่มันยิ่งใหญ่มันเหมือนกับเป็นภาพสะท้อนความฝันของวัยรุ่นยุคใหม่ อยากทำอะไรที่มันประสบความสำเร็จ เล่าเรื่องผ่านตัวละครหลัก 3 คนที่เป็นเพื่อนกัน ซึ่งมีความฝันเดียวกัน นั้นคือ การก่อตั้งวงดนตรีหมอลำที่คนทั้งโลกเข้าถึง อยากทำในสิ่งที่มันเกินตัว ที่ดูแล้วมันไม่น่าจะทำได้ แต่มันคือเป้าหมายที่คนเราต้องมี  คืออยากเอาหมอลำไปเผยแพร่ในในระดับโลก  พวกเขาสามคนกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง พอดีกับที่ในหมู่บ้านก็มีจัดออดิชั่นวงดนตรีขึ้น สามคนก็เลยไปตามหาไปรวบรวมสมาชิกมาสร้างวงด้วยกัน ก็เหมือนเป็นภาพสะท้อนของเรา ที่เราเองก็เป็นคนทำหนังแล้วก็อยากจะเผยแพร่ผลงานของเราให้คนทั่วประเทศคนทั่วโลกได้เห็นเรื่องราวของหนังหมอลำมาเนีย

ชื่อ หมอลำมาเนีย “มาเนีย” มาจากภาษาอังกฤษแปลว่า “คลั่งไคล้ หลงใหล บ้าคลั่ง” ในขณะที่พวกคนรอบข้างพวกไทบ้านชาวบ้านเขาก็จะมองว่าพวกนี้เป็นพวกบ้าผีบ้า แต่เขา 3 คนนี้เขาก็ไม่ได้สนใจว่าคนอื่นจะมองยังไง

พวกเขายังยึดมั่นในความฝันของตัวเอง โดยที่เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นมันก็จะอยู่ในสังคมอีสานบ้านเรา เป็นสิ่งที่ตัวเราได้เผชิญและเป็นประสบการณ์ของเราเอง แล้วก็นำมาพัฒนาต่อยอดให้มันกลายเป็นหนังเรื่องนี้ หมอลำมาเนียเป็นภาพยนตร์คอมเมอดี้ตลกด้วยสถานการณ์ของตัวละครที่จะต้องเผชิญอยู่ทั้งเรื่องราวความรัก ความฝัน ผ่านความสนุกสนานและอุปสรรคต่างๆ จะว่าไปแล้วความฝันของทีมงานเองก็ไม่ต่างจากตัวละครในหนังมันยิ่งใหญ่เกินตัวมากๆ ในฐานะคนทำหนังเรื่องนี้ก็อยากให้คนดูดูแล้วสนุกไม่เบื่อแค่นั้นเลย

นาย นันทวุธ ภูผาสุก กล่าวว่า “ก่อนหน้านี้เราไม่ได้มีความอินกับหมอลำพอ แต่พอเราศึกษาไป เราอยากทำหนังสักเรื่องหนึ่ง เราก็เลยไปอ่านพวกประวัติหมอลำดู เออมันดูน่าสนใจ เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าหมอลำมันมีหลายทำนองมีหลายแบบ จนเราได้ศึกษาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เราก็เลยเลือกหัวข้อหลักหัวข้อที่จะทำ Thesis ของเราเป็นเรื่องหมอลำ แต่ว่าที่สาขาที่เรียนปริญญาโทเขาจะมีเป็นศิลปะนิพนธ์ ก็คือมีผลงานด้วย แล้วก็มีตัวเล่มวิจัยด้วย เราก็เลือกที่จะทำศิลปะนี้ หลังจากนั้นก็พัฒนามาเป็นภาพยนตร์สั้น จนเป็น Thesis จบก็เป็นเรื่อง “หมอลำมาเนีย” จนมามีโอกาสคือ พี่ปรัช ปรัชญา ปิ่นแก้ว ได้เห็นตัวอย่างภาพยนตร์เรื่องหมอลำมาเนียของเรา เขาเห็นแล้วเขาก็เลยชวนมาทำโปรเจคต์นี้ เรื่องนี้เป็นคอมเมดี้อีสาน พี่ปรัชสนใจในเรื่องหมอลำและให้พัฒนาต่อกลายเป็นหนังใหญ่ แล้วก็ได้รับความช่วยเหลือจาก อาจารย์นิยม ซึ่งเป็นหัวหน้าประธานหลักสูตรปริญญาโทปริญญาเอกมหาบัณฑิตกับดุษฎีบัณฑิตของที่คณะ ซึ่งอาจารย์พพยายามผลักดันเราตลอด สุดท้ายภาพยนตร์เรื่อง หมอลำมาเนีย จึงเกิดขึ้นโดยมี พี่ปรัชญา ปิ่นแก้ว เป็นโปรดิวเซอร์ และ อาจารย์นิยม ควบคุมดูแลเรื่องของการผลิต 

เรื่องหมอลำมาเนียความตั้งใจของเราคือมันมีพื้นฐานมาจากงานวิจัยปริญญาโท แต่ว่าด้วยความที่เป็นภาพยนตร์ เพราะฉะนั้นพวกฐานความรู้เพื่อความรู้อะไรพวกนี้หรือที่ไปที่มาของหมอลำ มันก็จะถูกเคลือบด้วยความเป็น Comedy มันเป็นความสนุกสนานที่หนังเขาจะพูดกัน มันก็จะมีฉากที่คนอีสานเขาดูเขาเห็น อย่างในหนังเราก็จะมีอย่างพวกฉากดีดลูกแก้วหยอดขนมสายไหมอะไรพวกนี้ มันจะเป็นมันเป็นฉากที่คนอีสานดูแล้วรู้สึกได้ พอรู้สึกถึงมันแล้วก็อาจจะทำให้คนอีสานเหมือนคิดถึงบ้านขึ้นมาว่าความทรงจำในวัยเด็กของเราเป็นยังไงซึ่งความทรงจำสมัยเด็กๆที่เราเอามาใช้ในหนัง เป็นภาพสะท้อนการโหยหาอดีตของเราเอง แต่เราก็ไม่ได้เทิดทูน ความอีสานจ๋าขนาดนั้น เพราะในความคิดของเรา วัฒนธรรมที่ไม่ยอมปรับเปลี่ยนมันก็คือ วัฒนธรรมที่ตายแล้ว เพราะฉะนั้นภาษาหนังของเราก็จะเป็นอีกแบบ มีความเอดการ์ ไรต์ มีความโจวชิงฉือ มีจังหวะที่หนังอีสานไม่ค่อยทำกัน การเปลี่ยนคัตเปลี่ยนซีน เราก็ออกแบบให้มันเชื่อมกัน

 

                                                                                                                                          

     
         
       
       
     

 

                                                                  

   

ข่าวประชาสัมพันธ์

สานศิลป์ (จดหมายข่าว)