สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมแบบบูรณาการ(U2T)ตำบลวังสวาบ ได้ดำเนินการกิจกรรมย่อย : การพัฒนาแบรนด์สินค้าและบรรจุภัณฑ์ ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.ชูชาติ กมลเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ และคณะผู้บริหาร กล่าวเปิดกิจกรรม และติดตามผลดำเนินงาน วิทยากรโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงจันทร์ นาชัยสินธุ์ พร้อมทีมงานนักศึกษาหลักสูตรออกแบบนิเทศศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่อง แนวคิดในการพัฒนาแบรนด์สินค้าและบรรจุภัณฑ์ เป็นการฝึกปฏิบัติแบ่งกลุ่มผู้ประกอบการแต่ละประเภทผลิตภัณฑ์ สามารถผลิตสินค้าออกจำหน่ายเชิงพาณิชย์ อย่างมีคุณภาพและมีความปลอดภัย กิจกรรมปฏิบัติการขึ้นรูป กล่อง ขวด สำหรับการสร้างต้นแบบ 2 มิติ และ 3 มิติ ในบรรจุภัณฑ์รูปแบบต่างๆ ทั้งวัสดุพื้นถิ่นและวัสดุแบบสากล เน้นการจัดเรียงองค์ประกอบสำคัญ ของตราสินค้า ลวดลาย ฉลากบรรจุภัณฑ์ ในระหว่างวันที่ 25 - 26 ตุลาคม 2564 องค์การบริหารส่วนตำบลวังสวาป อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น
คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยอาจารย์พงศธร ยอดดำเนิน อาจารย์ประจำสาขาวิชาดนตรีและการแสดง (ผู้ฝึกสอน) นำนักศึกษาหลักสูตรวิชาเอกนาฏยศิลป์อีสาน สาขาวิชาดนตรีและการแสดง คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในการประกวดการแสดงศิลปวัฒนธรรม “สืบสานวัฒนศิลป์ แผ่นดินสยาม” ครั้งที่ 1 ชิงถ้วยพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเงินรางวัลรวมกว่า 1 ล้านบาท จัดโดยกองทัพบก ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม และบริษัท ปตท. จำกัด เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๖๙ พรรษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และร่วมสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการ “สืบสาน รักษา และต่อยอด” ในด้านการอนุรักษ์ ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ให้คงอยู่ในประเทศไทย และเพื่อเสริมสร้างความรัก ความศรัทธา ปลูกจิตสำนึกและแรงกระตุ้นให้กับประชาชนทุกหมู่เหล่าได้เทิดทูนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์โดยใช้การแสดงเป็นสื่อกลาง ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนส่งทีมเข้าร่วมประกวดครั้งนี้เป็นจำนวน 94 ทีม ในรูปแบบออนไลน์
และในวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๔ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้พิจารณากลั่นกรองผลงานที่ส่งเข้าร่วมประกวดและทำการคัดเลือกทีมที่ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ๑๐ ทีมสุดท้าย ผลปรากฏว่าคณะโกนเจา จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็น ๑ ใน ๑๐ ที่ได้รับการคัดเลือกจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และเมื่อวานนี้ ๒๙ กันยายน ๑๕๖๔ เวลา ๑๓.๐๐ น. เป็นการประกวดในรอบชิงชนะเลิศ ทีมโกนเจาสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ มาได้อย่างภาคภูมิ
อาจารย์พงศธร ยอดดำเนิน ได้กล่าวถึงเนื้อหาบางส่วนของการแสดงว่า “ฉากบวชนาค แห่นาคหลังช้าง แบบพื้นบ้านอีสานใต้ ๑ ใน ๔ เป็นฉากของการแสดงเมื่อวาน จากทีมมหาวิทยาลัยขอนแก่น ช่วงการแสดงนี้ชื่อว่า “พระผู้ทรงเอกอัครศาสนูปถัมภก” นำเสนอเรื่องราวพระราชกรณียกิจด้านศาสนา ผ่านพิธีกรรมบวชนาคแบบเขมรถิ่นไทยกับแนวคิดที่ว่า “บวชเรียนแทนพระคุณบุพการี แม้แต่องค์กษัตราก็ทรงรักษาศาสนาพุทธเรา”ตัวละครหลักคือ พี่ชายที่ไปเป็นทหาร กลับมาบวชทดแทนพระคุณ. เราเชื่อมเรื่องด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระพันปีและพระราชินีสุทิดาด้านการทอผ้า คุณยายตั้งใจและรอคอยวาระสำคัญของคนในครอบครัว “ทอผ้า” ที่ดีที่สุดด้วยความรักเพื่อให้หลานชายได้นุ่งในพิธีทำขวัญและนุ่งไปบวช ตามประเพณี คติความเชื่อ เรื่องผ้าและเครื่องแต่งกายในพิธีกรรมบวชนาคเขมรถิ่นไทย ดนตรีและขับลำนำ ประโคมรับขวัญนาค และแห่แหนไปบวช เป็นเครื่องสะท้อนสภาพสังคมที่อุดมไปด้วยความเชื่อด้านต่าง ๆ ตามคำโบราณที่ไว้สอนเจ้าบ่าว เจ้าสาว ในพิธีทำขวัญแต่งงาน “บานโกนเปราะฮ์ ออยบานตุม กะบาลตำแร็ย” แปลว่า หากมีลูกชาย ให้ได้นั่งหัวช้าง (นั่งช้างไปบวช) ”
โกนเจา เป็นภาษาเขมรแปลว่า ลูกหลาน ที่ตั้งชื่อนี้เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการเรียนการสอนแบบปฏิบัติการของนักศึกษาชั้นปีที่ 2 แขนงวิชานาฏยศิลป์อีสาน ในรายวิชานาฏยศิลป์กลุ่มวัฒนธรรมโคราช-กันตรึม (นาฏศิลป์อีสานใต้) ภาคเรียนที่ 1 / 2564 เลยใช้ชื่อให้มีภาษาถิ่นตามรายวิชา ผู้แสดงยกทั้งชั้นเรียนเพื่อได้ร่วมกันทำงานทั้งรุ่น
ขอขอบคุณข้อมูล / ภาพ พงศธร ยอดดำเนิน
คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดตัวหลักสูตรปรับปรุงใหม่ระดับปริญญาตรี ในชื่อ “หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการแสดง (Performance Practice)” ชื่อปริญญา ศป.บ.(การแสดง) หรือ B.F.A. (Performance Practice) ถือเป็น หลักสูตรทางด้านศิลปกรรมศาสตรบัณฑิตหลักสูตรแรกของประเทศไทย และสาขาการแสดงสาขาแรกในประเทศไทยที่พร้อมในการปรับการเรียนการสอนเข้าสู่กระบวนทัศน์ใหม่ (New Paradigm)
โดยเน้นการเรียนรู้ที่มุ่งสู่ผลลัพธ์การเรียนรู้ (outcome-based learning) เป็นเป้าหมายของการศึกษา เน้นการพัฒนาและประเมินสมรรถนะ (Competency) ของผู้เรียน เปลี่ยนมาใช้ระบบชุดวิชา (Modules) ปรับเปลี่ยนบทบาทของ “อาจารย์” เป็น “โค้ช (Coach)” เน้นการจัดการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์จากการฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จริง (Experiential-based Learning) เน้นการจัดการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อความต้องการและการพัฒนารายบุคคล (Personalized Learning) การส่งเสริมการเรียนรู้แบบใหม่ (Flipped classroom) โดยเน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง (Experiential learning) ผ่านโครงงาน (Project-based learning) และกลวิธีการสอนแบบที่เน้นการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based instruction) และ การใช้วิจัยเป็นฐาน (Research-based Instruction) และการบูรณาการเรียนรู้ผ่านพื้นที่/สถานประกอบการ (Work-integrated learning) และการสร้างหลักสูตรใหม่ตามความต้องการของสังคมผ่านการจัดการเรียนการสอนในหลายรูปแบบทั้งการเรียนในมหาวิทยาลัย การเรียนผ่านสื่อออนไลน์ และการเรียนรู้จากพื้นที่จริงจากสถานประกอบการและชุมชน รวมถึงพัฒนานักศึกษาให้มีสมรรถนะและทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21
ในการปรับปรุงหลักสูตรจากเดิมคือหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศิลปะการแสดง มาเป็นหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการแสดง (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2565) ในครั้งนี้คณะกรรมการปรับปรุงหลักสูตรได้พิจารณาถึงปัจจัยและผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ แผนพัฒนาประเทศในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2565-2570) ตลอดจนแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงและความผันผวนทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมในยุคการเปลี่ยนฉับพลันทางดิจิทัลเป็นหลักสำคัญ จึงได้หันกลับมามองเรื่อง “พื้นที่ทางสังคมและวัฒนธรรมพื้นถิ่น” เนื่องจากจังหวัดขอนแก่นตั้งอยู่ศูนย์กลางของภาคอีสาน และพื้นที่ที่รุ่มรวยด้วยมรดกทางศิลปวัฒนธรรม จึงได้ให้ความสำคัญกับการสร้างงานทางศิลปะการแสดง จากฐานศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน ผ่านขบวนการความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Creativity)
เพื่อพัฒนาและสร้างหลักสูตรที่ผลิตบัณฑิตให้กลายเป็น “นักสร้างและนักปฏิบัติการทางการแสดง” ที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนและสังคมด้วยฐานคิดและเครื่องมือทางการแสดงเพื่อก่อให้เกิดผลงานการแสดง เกิดกระบวนการคิดและกลวิธีการใหม่ ๆ ผสานกับเครื่องมือและหลักคิดทางศิลปะการละครตะวันตก โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพและเข้าใจความแตกต่างหลากหลายทางศิลปะและวัฒนธรรม ตลอดจนใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นตัวแปรสำคัญในการแสวงหาองค์ความรู้ใหม่หรือคิดสร้างสรรค์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของผลผลิตทางศิลปะการแสดงให้มีคุณภาพระดับสากล สร้างประสบการณ์และการรับรู้ศิลปะการแสดงร่วมสมัยแก่ผู้คนในวงกว้างทั้งในระดับชุมชนและนานาชาติ จนนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแก่ชุมชนอีสานและสังคมไทยผ่าน “พื้นที่ศิลปะการแสดง”
เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว หลักสูตรฯ ได้พัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับหลักสูตร (Program Learning Outcomes) ที่ครอบคลุมทักษะความรู้ ทักษะปฏิบัติ และทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตของบัณฑิตสาขาวิชาการแสดงตามสมรรถนะของวิชาชีพทางด้านการแสดงดังนี้
สมรรถนะหลัก
PLO1. สมรรถนะด้านการเล่าเรื่อง (Storytelling Skills: ST)
PLO2. สมรรถนะด้านการสร้างการแสดง (Performance Making Skills: PM)
สมรรถนะเสริม
PLO3. สมรรถนะด้านการประยุกต์ใช้การแสดง (Applied Performance Skills: AP)
PLO4. สมรรถนะด้านสื่อดิจิทัลและเทคโนโลยี (Digital Media and Technology Skills: DT)
PLO5. สมรรถนะด้านบริหารจัดการการแสดง (Performance Management Skills: PM)
ผลผลิตของบัณฑิตภายใต้หลักสูตรนี้จึงต้องมีสมรรถนะสำคัญหลักทางด้านการแสดงได้แก่ “ทำ”การแสดง…ดี “คิด”การแสดง...ได้ “ใช้”การแสดง...เป็น เป็นผู้ที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ได้แก่ (1) เป็นนักคิดสร้างสรรค์และนักปฏิบัติการทางการแสดง (2) เป็นนักจัดการการแสดง ที่ไม่ว่าจะเป็นผู้อยู่เบื้องหน้าหรืออยู่เบื้องหลังสามารถประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะในการทำงานที่หลากหลายได้อย่างมืออาชีพ และ (3) เป็นนักประยุกต์ นักส่งเสริมและนักพัฒนาวัฒนธรรมร่วมสมัย เป็นผู้สร้างสรรค์และผู้ขับเคลื่อนศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยได้อย่างมีรสนิยมบนพื้นฐานของการเคารพวัฒนธรรมที่หลากหลายมีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณตามหลักวิชาชีพทางการแสดงสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว ไม่หยุดยั้งในการพัฒนาตนเองและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคม
หลักสูตรนี้เหมาะกับใคร?
คุณสมบัติของผู้สมัคร
พร้อมเปิดรับนักศึกษาใหม่ปีแรก ในปี 2565
รับจำนวน 30 ที่นั่ง
เปิดรับสมัครคัดเลือกในรอบ PORTFOLIO เพียงรอบเดียวเท่านั้น!
สามารถติดตามรายละเอียดการรับสมัคร ได้ที่ Facebook Fan page : Performance Practice KKU