องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านขามร่วมกับ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ภายใต้โครงการเศรษฐกิจและสังคม แบบบูรณาการรายตำบล (มหาวิทยาลัยสู่ตำบน) U2T ตำบลบ้านขามได้ดำเนินการกิจกรรมย่อย การอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน กลุ่มปลาส้มและกลุ่มผลิตภัณฑ์เสื่อกก นายหมวดโทนิติวัทธน์ นิธินันท์สาร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านขาม เป็นประธานในพิธี วิทยากรโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงจันทร์ นาชัยสินธุ์ หลักสูตรออกแบบนิเทศศิลป์ ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เป็นกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ ตราสินค้า บทบาทสีสันและการประยุกต์ลวดลายจุดขายการตัดสินใจซื้อ แนวคิดการออกแบบเกิดรูปทรงใหม่ เพื่อส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์ให้ผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน ในวันที่ 15 สิงหาคม 2565 ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
วงโปงลางสินไซโชว์งดงามอลังการชุดการประกวดดนตรีพื้นบ้านโปงลางชิงถ้วยพระราชทานในงานมหกรรมภูมิปัญญานันทนาการท้องถิ่นอีสานรุ่นอายุไม่เกิน 25 ปี ประจำปี ณ โคราชฮอลล์ ชั้น 5 เซนทรัลโคราช คว้าถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และรางวัลประเภทอื่น ๆ อีกมากมาย เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา
การประกวดวงโปงลางครั้งนี้กรมพละศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้เป็นเจ้าภาพในการจัดการประกวดอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 เพื่อเป็นการส่งเสริมภูมิปัญญานันทนาการด้านดนตรีวงล้างให้แพร่หลาย รวมทั้งให้เด็กและเยาวชนได้แสดงฝีมือทางด้านการแสดงดนตรีและการละเล่นพื้นบ้านโปงลาง และรู้จักใช้เวลาว่าง ในการเข้าร่วมกิจกรรมนันทนาการจนเป็นวิถีชีวิต
วงโปงลางสินไซ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นอีก 1 วงโปงลางที่ส่งทีมเข้าร่วมประกวดและป้องกันแชมป์ซึ่งปีที่ผ่านมาวงโปงลางสินไซก็ได้รับรางวัลชนะเลิศ และสำหรับปีนี้ก็สามารถชนะใจคณะกรรมการผู้ตัดสินได้อีกครั้ง สามารถคว้ารางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มาครองต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 พร้อมรับเงินรางวัล 100,000 บาท และสำหรับรางวัลอื่นๆที่ได้รับมาจากการประกวดในเวทีนี้ประกอบไปด้วย 1.รางวัลบรรเลงซออีสานดีเด่น 2.รางวัลบรรเลงโปงลางดีเด่น 3.รางวัลบรรเลงกลองดีเด่น 4.รางวัลบรรเลงแคนดีเด่น 5.รางวัลขับร้อง ลำ ดีเด่น 6.รางวัลแสดงชุดเทิดพระเกียรติ ฯ ดีเด่น
อาจารย์อาทิตย์ กระจ่างศรี หนึ่งในผู้ควบคุมทีมได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า วงดนตรีโปงลางที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศครั้งนี้ มีทั้งหมด 5 ทีม และแนวความคิดของชุดการจัดแสดงครั้งนี้เป็นการเป็นการแสดงเพื่อเทิดพระเกียรติฯสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ครบรอบ 90 พรรษา โดยมีการร้อยเรื่องนำเอาเหตุการณ์เมื่อปี พ.ศ.2498 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ในหลวงรัชการที่ 9 และ สมเด็จพระราชินีได้เสด็จเยือนอีสานเป็นครั้งแรกและสาเหตุที่เลือกเรื่องราวของจังหวัดนครพนมเป็นร้อยเรื่องของการแสดงนั้นเป็นเพราะสาเหตุหลายอย่าง กล่าวคือ ท่านได้ทรงเสด็จและประทับแรมที่จวนผู้ว่าหลังเก่าและเป็นจวนผู้ว่าหลังแรกของจังหวัดนครพนมซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศษ (ศิลปะโคโลเนียล) รวมถึงการรับอิทธิพลการแต่งการแฟชั่นนิยมจากวัฒนธรรมตะวันตกในยุคนั้น อีกอย่างเมื่อพระองค์ท่านได้ทำภารกิจเสร็จเรียบร้อย ในตอนเย็นได้ทรงเยี่ยมชมงานไหลเรือไฟ จึงได้เป็นแรงบันดาลใจถ่ายทอดบอกเล่าเรื่องราวผ่านการแสดงเหตุการทางด้านประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญและน่าสนใจยิ่งต่อการอนุรักษ์และอีกหนึ่งอย่างลืมไม่ได้และมีส่วนเชื่อมโยงของจังหวัดนครพนมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นคือ ตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้นำพระธาตุพนมมาเป็นตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย สำหรับผู้แสดงในวงสินไซนั้นมาจากหลากหลายคณะฯ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะนักศึกษาดนตรีพื้นเมือง หรือนักศึกษานาฏศิลป์ของคณะศิลปกรรมศาสตร์ แต่เปิดโอกาสให้นักศึกษาที่สนใจเข้าร่วมการแสดงจากทุกคณะเข้าร่วมคัดเลือกเพื่อร่วมทีมวงโปงลางสินไซอีกด้วย
ขอขอบคุณภาพถ่ายจาก FB: sor.duhan
องค์การบริหารส่วนตำบลกุดน้ำใส ร่วมกับ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ภายใต้โครงการเศรษฐกิจและสังคม แบบบูรณาการรายตำบล (มหาวิทยาลัยสู่ตำบน) U2T ตำบลกุดน้ำใส ได้ดำเนินการกิจกรรมย่อย การอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ 3 ผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน กลุ่มแปรรูปอาหาร (กลุ่มกล้วยอบน้ำผึ้ง กส. กลุ่มข้าวพองอบกรอบ และกลุ่มผักปลอดภัย) วิทยากรโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงจันทร์ นาชัยสินธุ์ หลักสูตรออกแบบนิเทศศิลป์ ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวคิดในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เป็นกิจกรรมเชิงปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมการตลาดและสร้างอัตลักษณ์ให้ผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน โดยปฏิบัติการประกอบขึ้นรูป กล่อง ขวด สำหรับการสร้างต้นแบบ 2 มิติ 3 มิติ และวัสดุที่หลากหลายในบรรจุภัณฑ์รูปแบบต่างๆ ในวันที่ 2 สิงหาคม 2565 ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลกุดน้ำใส อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
หอศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้จัด นิทรรศการ A Study in Deception โดย Pietro Lo Casto ซึ่งเป็นศิลปินนานาชาติชาวอิตาเลียนในพำนัก สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมาการจัดแสดงนิทรรศการครั้งนี้ใช้ชื่อว่า A Study in Deception (2022) เป็นชุดผลงานจากโครงการค้นคว้าที่ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงเวลากว่า 1 เดือน ของการเป็นศิลปินในพำนักในขอนแก่น กิจกรรมเริ่มต้นเมื่อเวลา 13.00 น. ณ ห้องนิทรรศการ FAG2 ได้มีการบรรยายของศิลปินหรือ Artists talk ถึงการเข้ามาพำนักในขอนแก่น การศึกษาค้นคว้าวิจัยงานศิลปะของท้องถิ่นและถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานครั้งนี้ จากนั้นเวลา 17.00 น. ได้มีพิธีเปิดนิทรรศการอย่างเป็นทางการ
“Pietro Lo Casto” ได้กล่าวในตอนหนึ่งว่า ฉันอยู่ในขอนแก่นมานานกว่า 1 เดือนแล้วในฐานะศิลปินร่วมสมัย มันเป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมของการทำงานในจังหวัดขอนแก่นที่อยู่ในภาคอีสาน ฉันมาที่นี่เพื่อค้นหาและศึกษาปัญหาของการจัดทำโครงการนี้และได้ลงพื้นที่เขื่อนอุบลรัตน์ในการสำรวจหัวข้อวิจัยบางส่วนสำหรับการเรียนปริญญาโท สาขาทัศนศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดังนั้นฉันจึงได้ทำแบบสอบถามกับผู้คนในพื้นที่เพื่อให้ได้แนวคิดบางอย่างที่ฉันได้สำรวจถ่ายทอดแนวคิดลงไปเป็นผลงานศิลปะ
สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมเยี่ยมชมผลงานและให้กำลังใจศิลปินสามารถเข้าชมนิทรรศการซึ่งจัดแสดงระหว่างวันที่ 23 ก.ค.-13 ส.ค. 2565 ณ ห้องนิทรรศการ FAG2 หอศิลป์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยไม่มีค่าใช้จ่าย