คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ประจำปี 2565 (FAR8) “The Future of Arts: The Challenges to Artists” ศิลป์ท้า เวลา ท้าศิลป์ ระหว่างวันที่ 3-4 กันยายน 2565 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(จังหวัดขอนแก่น) เพื่อเป็นเวทีเปิดโอกาสในนักวิจัยนำเสนอผลงานทางด้านศิลปะสู่สาธารณะในระดับชาติและนานาชาติ ซึ่งในครั้งนี้มีผู้สนใจร่วมส่งบทความงานวิจัยในรูปแบบโปสเตอร์และการนำเสนอผ่านระบบ Online และ Onsite จำนวนทั้งสิ้นกว่า 200 บทความ
การจัดงานครั้งนี้เป็นความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายการศึกษาทั้งภายในและภายนอกประเทศรวม 37 องค์กร สำหรับเครือข่ายการศึกษาต่างประเทศประกอบไปด้วย SHANGHAI UNIVERSITY , SHAANXI NORMAL UNIVERSITY,
GANNA NORMAL UNIVERSITY , ANHUI NORMAL UNIVERSITY , NORTHWEST MINZU UNIVERSITY
NINGBO POLYTECHNIC , HUTECH UNIVERSITY OF TECHNOLOGY , สถาบันวิจิตรศิลป์แห่งชาติ สปป.ลาว เป็นต้น ครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิประจำกลุ่มนำเสนอต่างๆประกอบไปด้วย ศาสตราจารย์เกียรติคุณสุชาติ เถาทอง อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี , Asst.Prof.Dr. Sebastien Tayac อาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์ ดร.นิรัช สุดสังข์ อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปะและการออกแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยนเรศวร , ผู้ช่วยศาสตราจารย์อติเทพ แจ๊สนาลาว อาจารย์ประจำคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร , ศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุขสันติ แวงวรรณ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนาฎศิลป์อ่างทอง สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ , ศาสตราจารย์พรรัตน์ ดำรุง อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ Dr.Lowell Skar อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สำหรับกิจกรรมภายในงานเริ่มต้นตั้งแต่เวลา 9.30 น. ในวันที่ 3 กันยายน 2565โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์.ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวรายงานถึงความเป็นมาต่อประธานในพิธี (รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น) และท่านผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ตลอดจนผู้เข้าร่วมงานประชุมวิชาการ จากนั้นท่านประธานในพิธีได้กล่าวเปิดงานและแสดงความชื่นชมยินดีในการจัดประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติครั้งนี้ เสร็จสิ้นจากพิธีเปิดได้มีการมอบของที่ระลึกให้กับภาคีเครือข่ายด้านการศึกษาที่เข้าร่วมงาน
ในเวลา 10.00 น.-12.00 น. ได้มีการบรรยายปาฐกถาพิเศษเรื่อง “The Future of Arts: The Challenges to Artists” โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณสุชาติ เถาทอง อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ในช่วงบ่ายเป็นการแบ่งกลุ่มอภิปรายนำเสนอผลงานประกอบไปด้วย กลุ่มทัศนศิลป์(ระดับชาติ) กลุ่มทัศนศิลป์ (ระดับนานาชาติ) กลุ่มสาขาการออกแบบ (ระดับชาติ) กลุ่มสาขาการออกแบบ(ระดับนานาชาติ) กลุ่มสาขาดนตรี (ระดับชาติ) กลุ่มสาขาดนตรี(ระดับนานาชาติ) กลุ่มสาขาการแสดง (ระดับชาติ) กลุ่มสาขาการแสดง (ระดับนานาชาติ) กลุ่มสาขาวัฒนธรรม (ระดับชาติ) กลุ่มสาขาวัฒนธรรม(ระดับนานาชาติ) และวันที่ 4 กันยายน 2565 มีการบรรยายปาฐกถาพิเศษเรื่อง “The Future of Arts: The Challenges to Artists” โดยนายพิเชษฐ์ กลั่นชื่น ศิลปินรางวัลศิลปาธร สาขาศิลปการแสดง ผ่านช่องทาง Zoom meeting และช่วงบ่ายมีการนำเสนอผลงานต่อเนื่องจากวันแรกของงาน
รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี ได้กล่าวในช่วงหนึ่งว่า “มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการวิจัย การศึกษาองค์ความรู้ใหม่ และการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาภูมิภาค นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันและองค์กรต่าง ๆ เพื่อพัฒนาสู่ความเป็นเลิศทางด้านการพัฒนาบัณฑิตตอบสนองสู่ทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาองค์ความรู้ด้านศิลปกรรมศาสตร์ อันประกอบด้วย ทัศนศิลป์ การออกแบบ ดนตรีและการแสดง และศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของชาติ ตลอดจนเป็นสาขาที่มุ่งเน้นความสุนทรียและกล่อมเกลาจิตใจให้มีความผ่องแพ้ว การจัดประชุมในครั้งนี้ถือเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียน่รู้เผยแพร่ผลงานการวิจัย ผลงานทางวิชาการและผลงานสร้างสรรค์ อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและส่งเสริมให้งานวิชาการด้านศิลปกรรมมีคุณภาพและเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไป”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์.ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ว่า “การจัดงานครั้งนี้เพื่อจัดเวทีนำเสนอผลการวิจัย ผลงานวิทยานิพนธ์ ผลงานสร้างสรรค์ ของนักวิจัยนักวิชาการ คณาจารย์ นิสิตนักศึกษา และผู้ที่สนใจ อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการวิจัย การเรียนการสอน การบริการวิชาการเพื่อชุมชน สังคม และประเทศชาติ เสริมสร้างบรรยากาศการวิจัยและเปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ การนำเสนอผลงานวิจัยที่จะพัฒนาสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ และเป็นช่องทางในการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาท้องถิ่นและประเทศ”
เมื่อวันที่ 22-28 ส.ค. 65 ที่ผ่านมา คณะศิลปกรรมศาสตร์ ร่วมกับชุมชนบ้านขาม-เป็นสุข ต.เป็นสุข อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ ได้ดำเนินโครงการ Arts for All ศิลป์ มข. สร้างสรรค์ชุมชนต้นแบบ ซึ่งในปีนี้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อรื้อฟื้นอัตลักษณ์ชุมชนด้วยการรวบรวมหลักฐานชิ้นสำคัญต่างๆ ของชาวบ้านมาจัดสร้างเป็น "พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ชุมชน" และการเขียนภาพเล่าเรื่องประเพณี 12 เดือน ซึ่งต่อยอดจากปีที่ 1 ที่ได้สำรวจข้อมูลชุมชนและจัดทำปฏิทิน 12 เดือน ในครั้งนี้มีคณาจารย์ และนักศึกษาจากสาขาทัศนศิลป์ ดนตรี และการแสดง เข้าร่วมจำนวน 70 คน นำโดย รศ.รณภพ เตชะวงศ์ ผศ.ภาณุ อุดมเพทายกุล อ.ดร.พงศธร ยอดดำเนิน และ อ.อาทิตย์ กระจ่างศรี ซึ่งเป้าหมายการดำเนินงานปีที่ 2 เพื่อสร้างพิพิธภัณฑ์ชุมชนให้เป็นแหล่งเรียนรู้อัตลักษณ์ชุมชน การจัดสร้างประติมากรรมพุทธคติในวัดแจ้งบูรพา และการออกแบบซุ้มประตูทางเข้าชุมชนจากอัตลักษณ์ชุมชนเขมนถิ่นไท ผู้ช่วยศาสตราจารย์พชญ อัคพราหมณ์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ กล่าวว่า "การดำเนินงานปีที่ 2 เป็นระยะของการซ่อม-สร้าง ด้วยฐานทัศนศิลป์ ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญต่อการรื้อฟื้นอัตลักษณ์ และนำเสนอให้ทุกภาคส่วนได้มองเห็นว่าชุมชนบ้านขามมีรากประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน และมีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมเป็นของตนเอง นอกจากนี้ ผลงานที่เกิดขึ้นในการดำเนินงานปีที่ 1 อาทิ การแสดงนาฏศิลป์ และบทเพลง ได้ถูกถ่ายทอดคืนสู่ชุมชนโดยมีเยาวชน-นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นว่า ชุมชนบ้านขาม-เป็นสุข นอกจากจะรุ่มรวยวัฒนธรรมแล้วยังมีความสนใจในการรักษารากวัฒนธรรมของตนเองเอาไว้อีกด้วย
ฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดทำโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการศิลปกรรมร่วมสมัยอาเซียน ( The ASEAN contemporary art KKU workshop ) ตอน “โลหะ และ เกลือ Metal and Salt” ระหว่างวันที่ 25-29 สิงหาคม 2565 มีศิลปินไทยและต่างชาติเข้าร่วมกิจกรรมอย่างคับคั่งเพื่อสร้างสรรค์ผลงานศิลปะถ่ายทอดออกมาสู่สาธารณชนให้ได้ชมผลงาน
ศิลปินที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้มีจำนวนกว่า 30 คน เป็นศิลปินต่างชาติและศิลปินไทย สำหรับศิลปินต่างชาตินั้นประกอบด้วยศิลปินที่มาจากประเทศ ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และอิตาลีได้เดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆเพื่อเสริมสร้างแรงบันดาลใจการสร้างสรรค์ผลงาน โดยในวันพฤหัสบดีที่ 25 – 26 สิหาคม 2565 ได้เดินทางไปยังพิพิธภัณฑ์บ้านเชียงศึกษาพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมบ้านเชียง ต่อด้วยชมแหล่งภูมิปัญญาการผลิตเกลือสินเธาว์บ้านดุง จังหวัดอุดรธานี และชมสถานที่ต่าง ๆในจังหวัดหนองคาย อาทิ วัดพระธาตุบังพวน แหล่งแร่โลหะภูโล้น เป็นต้น
และในวันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม 2565 ได้มีการนำผลงานของศิลปินทุกท่านที่เข้าร่วมกิจกรรมนำมาจัดนิทรรศการศิลปกรรมร่วมสมัยอาเซียน ณ หอศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ซึ่งได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อเวลา 13.30 น. และได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่นมาเป็นประธานในพิธีเปิด จากนั้น ผศ.ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุลได้กล่าวรายงานถึงความเป็นมาของโครงการต่อประธาน ศิลปิน และแขกผู้มีเกียรติที่เข้าร่วมพิธี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล ประธานในพิธีได้กล่าวต้อนรับและชื่นชมศิลปินในการมุ่งมันสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกในด้านต่าง ๆออกมาให้ผู้คนได้รับชม จึงกล่าวเปิดงานนิทรรศการศิลปกรรมร่วมสมัยอาเซียน ( The ASEAN contemporary art KKU workshop )
ผศ.ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล คณบดีฯ ได้กล่าวว่า “โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการศิลปกรรมร่วมสมัยอาเซียน ตอน “โลหะ และ เกลือ Metal and Salt” เป็นการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในการสร้างสรรค์วัฒนธรรมร่วมสมัยทางด้านทัศนศิลป์และการออกแบบ จากประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประชาชาติอื่น ๆ จากนอกภูมิภาค การบูรณาการ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของนักวิชาการ ศิลปิน นักออกแบบ คณาจารย์ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจทั่วไป ที่จะก่อให้เกิดประสบการณ์ทางด้านสุนทรียภาพจากศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย แนวคิด มุมมอง ทัศนคติในการสร้างสรรค์ ซึ่งปัจจุบันมีรูปแบบ วิธีหรือกระบวนการสร้างสรรค์ ที่มีความหลากหลาย มีความน่าสนใจ มีการนำเสนอที่แปลกใหม่ โดยกระบวนการและผลงานสร้างสรรค์เหล่านี้ล้วนมีคุณค่าทั้งในเชิงวิชาการ และคุณค่าในเชิงประวัติและพัฒนาการของงานศิลปกรรมและงานออกแบบร่วมสมัยในระดับภูมิภาค ระดับชาติ และนานาชาติ ที่สามารถนำไปสู่บริหารจัดการแหล่งเรียนรู้ได้ทั้งในรูปแบบของชิ้นงานในการสะสม(Art Collection) และโดยการบันทึกกระบวนการสร้างสรรค์ของศิลปิน(Art Process Documentary) ที่เป็นสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ โดยเฉพาะทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 (Partnership for 21st Century Skills)และการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เป็นฐานข้อมูลสารสนเทศสำหรับการคันคว้าวิจัยของนักศึกษา คณาจารย์ บุคคลชุมชนและสังคมทั่วไป ” สำหรับการจัดนิทรรศการจะดำเนินการจัดไปถึงวันที่10 กันยายน 2565 ผู้ที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมผลงานได้ในวันและเวลาราชการโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
คณะสัตวแพทยศาสตร์ นำทีมโดย รศ.น.สพ.ดร.สาธร พรตระกูลพิพัฒน์ ร่วมกับ รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงจันทร์ นาชัยสินธุ์ หลักสูตรออกแบบนิเทศศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ภายใต้โครงการเศรษฐกิจและสังคม แบบบูรณาการรายตำบล (มหาวิทยาลัยสู่ตำบน) U2T ในวันที่ 11 สิงหาคม 2565 ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลโคกสะอาด อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ โดย นายสุภาพ เหล่าภักดี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกสะอาด เป็นประธานในพิธี กิจกรรมปฏิบัติการ พัฒนาตราสินค้า บรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ กลุ่มกล้วยฉาบ และกลุ่มจักสานกระเป๋า และในวันที่ 18 สิงหาคม 2565 ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลธาตุทอง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ นางศิริพรรณ บุตะเขียว รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลธาตุทอง เป็นประธานในพิธี กิจกรรมปฎิบัติการ พัฒนาตราสินค้า บรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ กลุ่มกล้วยฉาบ และกลุ่มหน่อไม้ดอง หน่อไม้อัด วิทยากรโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงจันทร์ นาชัยสินธุ์ หลักสูตรออกแบบนิเทศศิลป์ ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวคิดในการพัฒนาตราสินค้า ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ พร้อมนักศึกษาหลักสูตรฯ เป็นกิจกรรมเชิงปฏิบัติการออกแบบ การสร้างตราสินค้า บทบาทสีสันการประยุกต์ลวดลาย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชน ที่เกิดจากฐานด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีชีวิตของชุมชน เพื่อ เพิ่มมูลค่า ต่อยอด เกิดแนวคิดการออกแบบรูปทรงใหม่ ที่ส่งเสริมอัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์สินค้าอย่างสร้างสรรค์ เข้าสู่ตลาดในระดับสากลต่อไป